"ฤดูกาล วัน เวลา "

       ใน ป. 3 จะมีโอกาสได้เรียนรู้ เรียนเรื่อง ฤดูกาล วัน เวลา เด็ก ๆ จะได้ทำนาฬิกาแดด นาฬิกาน้ำ และกำลังจะทำนาฬิกาทราย 

 

      แรกเริ่มเราดูเวลาจากธรรมชาติก่อน เด็ก ๆ สังเกตเงาตัวเอง เงาที่สะท้อนบนพื้น ต่างช่วงเวลา ก็ขนาดต่างกัน ตอนเช้า ๆ เงาของเราเป็นเหมือนครูโย่งเลยค่ะ เด็ก ๆ สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของเงา ที่สัมพันธ์ไปกับการเปลี่ยนเวลาในระหว่างวัน การเคลื่อนของดวงอาทิตย์

 

     – นาฬิกาแรก ๆ ที่ทำให้เรารู้เวลา คือนาฬิกาพระอาทิตย์

     – มีสัตว์ที่บอกช่วงเวลาได้ด้วย เช่น นกบินออกจากรังในตอนเช้า บินกลับรังในตอนเย็น

       ไก่ขันในตอนใกล้เช้า 

       นกฮูก ค้างคาวออกหากินในเวลากลางคืน

       ส่วนผีเสื้อ มีทั้งผีเสื้อกลางวัน และผีเสื้อกลางคืน

     – และยังมีดอกไม้บอกเวลา เช่นคุณนายตื่นสาย ดอกบานเย็น 

 

    เด็ก ๆ เรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสของเขา ผ่านประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิต ทุกเรื่องราวมีความหมาย สัมพันธ์เกี่ยวโยงกัน หากเด็กสามารถรู้สึกถึงสิ่งนี้ได้ด้วยตนเอง อย่างช้า ๆ จะทำให้เขาพบคุณค่าของแต่ละวันที่ใช้ไป

     นอกเหนือจาก นาฬิกาที่บอกเวลา ที่ค่อนข้างนามธรรม เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ถึงการเดินไปข้างหน้าแบบไม่ถอยหลังกลับของวันเวลา เช่นอายุของพวกเขา ที่นับไปข้างหน้า ไม่เคยถอยหลัง แต่ละปี พวกเขาอายุเพิ่มขึ้น เติบโตขึ้น

     ใน 1 นาทีมี 60 วินาที เราลองกระโดดตามจังหวะของเข็มวินาทีกัน 60 ครั้ง เด็ก ๆ สนุกและเหนื่อย เวลาในโลกของเราผ่านมาเนิ่นนาน แล้วเวลาชั่วอึดใจล่ะ นานแค่ไหน เด็กบางคนอาสากลั้นหายใจ แล้วเพื่อนที่เหลือช่วยกันนับ เวลาหนึ่งชั่วก้านธูป (เราจุดธูปกันในห้อง) เวลาชั่วหนึ่งกะลา (เรานำกะลาที่เจาะรูวางบนผิวน้ำแล้วสวดมนต์ด้วยกัน)

     นาฬิกา มาจาก นาฬิเกร ในภาษาบาลี แปลว่า มะพร้าว สมัยก่อนมีการจับเวลาการสวดมนต์ของพระ วันนั้นเราเลยได้รู้ว่า นะโม 3 จบ นานเท่ากับ หนึ่งชั่วกะลาครึ่ง บทสวด ยะโตหัง ภะคิณี ฯลฯ (ขององคุลิมาล) ก็นานเท่ากับ หนึ่งชั่วกะลาครึ่ง เช่นกัน

     มีเด็กคนหนึ่งมาบอกครูในยามเช้าที่ได้พบกัน ว่าหนูรู้แล้วนะว่าพอถึงฤดูหนาว ครูน่าจะให้เราเรียนเวลา ด้วยการนั่งดูน้ำแข็งละลาย แล้วนับว่า 1 ชั่วก้อนน้ำแข็งละลาย มันนานเท่าไหร่

     การเรียนรู้ในเรื่องวิชาการ จะสัมพันธ์สอดคล้องไปกับพัฒนาการภายในของพวกเขา และสิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วมในบทเรียนของเด็ก ๆ เด็กในวัยนี้เขากำลังทดลอง ทดสอบ ในขอบเขตต่าง ๆ ที่โลกรอบตัวมี และเราก็ให้เขาได้ทดลองในเรื่อง “เวลา” อย่างหลากหลาย

      การเรียนรู้ผ่านการลองผิดลองถูก ในการลงมือกระทำ ผ่านความผิดพลาด ไม่แน่นอน (เช่นความผันแปรที่ขึ้นอยู่กับขวดน้ำ ของรูที่เจาะ ในนาฬิกาขวดน้ำ) เห็นความพยายาม เห็นปัญญาของมนุษย์รุ่นที่ผ่าน ๆ มา ก่อนที่เราจะนำเด็ก ๆ ไปสู่การดูเวลาแบบมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกฏ กติกา ที่ทุกคนในโลกใช้ร่วมกัน

Scroll to Top