“ความรู้ที่มีความหมาย”

เมื่อมองย้อนกลับไปในการศึกษาที่ได้รับ หลายคนไม่สามารถเชื่อมโยงความรู้เข้ากับชีวิตได้ อาจเกิดคำถาม เรียนไปทำไม เรียนไปเพื่ออะไร ซึ่งการศึกษาวอลดอร์ฟพยายามบ่มเพาะเด็กให้เชื่อมโยงสิ่งที่ได้เรียนรู้กับโลกรอบตัว รวมถึงเชื่อมโยงกลับมาหาตนเองด้วย

เช่นในชั้นประถมปลาย เมื่อเด็ก ๆ เริ่มเรียนเรื่องพืช เรื่องสัตว์ ครูจะมีคำถามย้อนกลับมาถึงมนุษย์ ถ้าดอกดาวกระจายเป็นคน เขาจะเป็นคนแบบไหน แล้วดอกดาวเรืองล่ะ จะเป็นคนแบบไหน การนำขั้วตรงข้ามมาให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ เช่น ดอกไม้ที่ดูเปิดกว้าง ดอกไม้ที่ดูเก็บตัว ก็จะทำให้เด็กมีคุณภาพของการเปิดรับสิ่งที่แตกต่างกัน มีความยืดหยุ่นและสามารถยอมรับความต่างเป็นต้นทุนชีวิต

แม้แต่คณิตศาสตร์ที่ดูเป็นศาสตร์ที่มีคำตอบตายตัว แต่วิธีการตั้งโจทย์กลับเปี่ยมด้วยชีวิตชีวาและมีศีลธรรมแทรกซ่อนอยู่ในนั้น สะท้อนถึงความเป็นองค์รวม

ในการเรียนการสอนทั่วไป ส่วนใหญ่โจทย์จะเป็นลักษณะที่ว่า สิ่งนี้บวกสิ่งนั้น จะได้เท่ากับอะไร เช่น 8 + 2 = ?
ซึ่งคำตอบที่ถูก ก็จะมีคำตอบเดียว คือ 10 ในมุมมองวอลดอร์ฟ ถือเป็นคำตอบที่ “ตาย” (dead) แล้ว
แต่ถ้าเราพลิกการตั้งโจทย์ว่า จำนวนสิบ 10 เท่ากับอะไรบวกกันได้บ้าง

10 = ?

คำตอบก็จะมีชีวิตชีวาขึ้น คำตอบที่ตอบได้ และเป็นคำตอบที่ถูกต้อง ก็จะไม่ได้มีคำตอบเดียว การตั้งโจทย์ที่มีความเป็นได้หลากหลาย โจทย์ที่มีชีวิต คือส่วนหนึ่งของการวางรากฐานให้กับวิธีคิดของเด็ก ว่าทางออกของปัญหาหนึ่งๆ ไม่ได้มีแค่หนึ่งทางออกเพียงเท่านั้น จึงเกิดเป็นคำกล่าวว่า ในขณะที่ครูวอลดอร์ฟสอนเลข ครูก็ได้สอนเรื่องอื่น ๆ ที่สำคัญสำหรับชีวิตไปพร้อม กันด้วย

จากเรื่องดังต่อไปนี้

10 = 1 + 9
10 = 2 + 8
10 = 3 + 7
10 = 4 + 6
10 = 5 + 5
10 = 6 + 4
10 = 7 + 3
10 = 8 + 2
10 = 9 + 1
จากการสอนเรื่องนี้ ครูจะมีภาพรวมอยู่ในใจ เด็กก็จะทยอยให้คำตอบกันออกมา ว่าอะไรบ้างที่บวกกันแล้วได้ 10

บรรยากาศในห้องเรียนเป็นไปในลักษณะช่วยกันคิด ทุกคนต่างอยู่บนเส้นทางการเรียนรู้ มิใช่การแข่งขัน เด็กจึงเกิดการช่วยเหลือและยอมรับซึ่งกันและกัน ครูจะตั้งใจจัดวางตำแหน่งของคำตอบตามภาพรวมที่มีอยู่ในใจ เพื่อวางไปสู่ความอัศจรรย์ใจ

จนพอได้หลาย ๆ คำตอบมา ที่อาจจะยังไม่ครบ เด็กบางคนอาจจะจับทางได้เร็ว เห็นความน่าอัศจรรย์ที่ตัวเลขไล่เรียงลำดับ 123456789 ทั้งขึ้นและลง คณิตศาสตร์กลายเป็นความงาม เป็นพลังที่ปลุกความกระหายใคร่รู้ที่จะเรียนรู้ในเรื่องอื่น ๆ โลกนี้มีอีกหลายสิ่งรอให้เราค้นพบ

ในส่วนของการตั้งโจทย์เลขแบบมีเรื่องราว ครูจะไม่ได้ตั้งแบบให้เด็กถือเอาความดีความชอบเข้าตัวเอง หกจะซ่อนความหมายของการให้และรับไว้เบื้องหลังตัวเลข

เช่น ขนมปัง 10 ก้อน เอาไปแบ่งให้น้องอนุบาล 2 ห้อง ห้องละเท่า ๆ กัน จะได้ห้องละเท่าไหร่
เกิดภาพของการแบ่งปัน การดูแลน้อง การนึกถึงคนอื่นที่อยู่รอบตัวของเรา

เมื่อท่องสูตรคูณ รวมถึงการเรียนรู้ผ่านจังหวะการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่เปรียบดั่งการเรียนรู้ทั้งเนื้อทั้งตัวนั้น ก็จะเป็นในทิศทาง ไปและกลับ

ท่องสูตรคูณไปข้างหน้า (เช่นการท่องทั่วไป) และท่องกลับย้อนหลังมายังจุดเริ่มต้น

การเรียนการสอนที่ล้อกับการหายใจเข้า หายใจออก นอกจากจะช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้พื้นที่รอบตัว ยังบ่มเพาะสิ่งที่เป็นนามธรรมเช่นวิธีคิด และมุมมองต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นได้ทั้งการมองจากตัวเองออกไปหาสิ่งอื่น-ผู้อื่น และการมองจากสิ่งอื่น-ผู้อื่นกลับเข้ามาหาตนเอง ยกตัวอย่างครั้งหนึ่ง เด็กประถมคนหนึ่งไปดูการแสดงดนตรีของพี่ ๆ โรงเรียนปัญโญทัย แล้วกลับไปเล่าให้แม่ของเขาฟังว่า พี่ ๆ เล่นดนตรีเก่งแค่ไหน สนุกแค่ไหน แล้วพูดในตอนท้าย “แต่น่าเสียดายที่พี่เขาไม่ได้ลงมาดูตัวเองแสดง อยากให้พี่เขาได้มานั่งดูตัวเองเล่นบ้างจัง”

การศึกษาที่มีชีวิต และมอบหลาย ๆ มุมมองของความรู้ ให้มี “ความเป็นไปได้” มากกว่า “การท่องจำแยกส่วน” จะทำให้เด็กค้นพบความหมายทั้งในตนเองและผู้อื่น ซึ่งหาก “ความรู้” นั้นได้เติบโตไปพร้อมกับ “ความหมาย” เช่นนี้แล้ว ความรู้จากการศึกษาที่เด็ก ๆ ได้รับ ก็คงหาที่ทางในการอยู่ร่วมกับวิถีชีวิตและร่วมดูแลรับผิดชอบสังคมได้จริง

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Scroll to top
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
%d bloggers like this: