กว่าจะเป็นดุลยพัฒน์
การศึกษาวอลดอร์ฟเกิดขึ้นโดย รูดอร์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) ชาวเยอรมัน ผู้ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักการศึกษา นักปรัชญา ได้ก่อตั้งโรงเรียนวอลดอร์ฟขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ.๑๙๑๙ ที่เมืองสตุทการ์ท ประเทศเยอรมนี ซึ่งยังคงตั้งอยู่จนถึงทุกวันนี้ การศึกษาวอลดอร์ฟมีอายุครบ ๑๐๐ ปี ในปี ค.ศ. ๒๐๑๙ นี้ ชื่อวอลดอร์ฟจึงเป็นชื่อที่เรียกตามโรงเรียนวอลดอร์ฟสตุทการ์ท แต่บางประเทศก็ใช้ชื่อว่า Steiner school เช่นใน อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อาฟริกา เป็นต้น
ในศตวรรษที่ผ่านมา การศึกษาวอลดอร์ฟได้กระจายไปทั่วโลก ก่อตั้งอยู่ในทุกทวีป (แต่เพิ่งเข้ามาในเอเชียเมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งประเทศญี่ปุ่นอาจจะเป็นแห่งแรกในเอเชียที่รับการศึกษาวอลดอร์ฟเข้ามา) ณ ปัจจุบันมีโรงเรียนทั่วโลกที่ได้รับการยอมรับจากองค์การนานาชาติของวอลดอร์ฟ มีจำนวนเป็นพันแห่ง ทั้งนี้ไม่นับโรงเรียนที่นำแนวทางการศึกษาวอลดอร์ฟไปเป็นแรงบันดาลใจอีกนับไม่ถ้วน การศึกษาที่มองมนุษย์อย่างเป็นองค์รวมนี้ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ ยกตัวอย่างแม้ในประเทศจีน ปัจจุบันมีโรงเรียนอนุบาลแนววอลดอร์ฟนับร้อยแห่ง และมีโรงเรียนเต็มรูปแบบถึงมัธยมปลายในเฉินตูและบางจังหวัด (ทั้งนี้แม้เป็นเรื่องยากที่จะตั้งโรงเรียนเอกชนในรูปแบบการปกครองของประเทศจีน)
ส่วนในประเทศไทยนั้น โรงเรียนวอลดอร์ฟได้เริ่มจัดตั้งขึ้นแห่งแรกเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว คือราวปี พ.ศ. ๒๕๓๘ และ ณ ปัจจุบันมีโรงเรียนวอลดอร์ฟในประเทศไทยจำนวน ๓ โรงเรียน และมีอนุบาลวอลดอร์ฟอีกหลายแห่งในประเทศไทย (https://www.freundewaldorf.de/fileadmin/user_upload/images/Waldorf_World_List/Waldorf_World_List.pdf)
ดุลยพัฒน์ คือ ศูนย์การเรียนที่ใช้หลักสูตรการศึกษาวอลดอร์ฟ ตามแนวทางที่ ดร.รูดอร์ฟ สไตเนอร์ (1861-1925) ได้ให้ไว้ ซึ่งแนวคิดการศึกษาแบบสไตเนอร์ได้แพร่หลายไปทั่วโลก
ดุลยพัฒน์ได้จดทะเบียนเป็นศูนย์การเรียนตามกฏกระทรวงว่าด้วยสิทธิขององค์กร ชุมชนและเอกชนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ศูนย์การเรียนดุลยพัฒน์อยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิดุลยพัฒน์ ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร โดยนำแนวทางการศึกษาอันเป็นสากลนี้มาประยุกต์ให้เข้ากับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของไทยและอีสาน
ที่ดุลยพัฒน์การศึกษาไม่ใช่เพียงการมอบวิชาความรู้ให้แก่เด็ก หากแต่เป็นการดูแล หล่อเลี้ยงพวกเขาอย่างเหมาะสม เพื่อให้เขาเติบโตไปสู่วัยผู้ใหญ่ได้อย่างสมดุล ทั้งทางร่างกายจิตใจและสติปัญญา
ดังนั้น นอกจากหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนรู้ในห้องเรียนแล้ว ดุลยพัฒน์ยังให้ ความสำคัญต่อการจัดสภาพแวดล้อมทางการศึกษาที่ด การดูแลโภชนาการที่เหมาะส ที่จะส่งเสริมเด็กให้เติบโตสมดุลและมีสุขภาวะ ด้วยเหตุนี้ในพื้นที่สีเขียว 16 ไร่ของศูนย์การเรียนที่นอกจากจะจัดแบ่งไว้เป็นบริเวณอาคารเรียนและพื้นที่สนามสำหรับเล่นและทำกิจกรรมกลางแจ้งแล้ว เรายังมีนาข้าวเกษตรชีวพลวัตร(Biodynamic Agriculture) สวนผักอินทรีย์ โรงสีข้าว และสวนป่าอีกด้วย
ความเป็นมาของดุลยพัฒน์
ราวปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้เกิดความตั้งใจของผู้ปกครองกลุ่มหนึ่งที่ต้องการการศึกษาที่มองมนุษย์อย่างเป็นองค์รวมให้กับลูก ซึ่งได้มองเห็นว่าแนวทางการศึกษาของวอลดอร์ฟนั้นชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากที่สุด หลังจากนั้นผู้ปกครองท่านหนึ่งซึ่งได้กลายเป็นครูประถมหนึ่งคนแรกของดุลยพัฒน์ได้มอบที่ดินจำนวน ๑๖ ไร่ พร้อมอาคารหลังแรก ให้กับ “มูลนิธิดุลยพัฒน์” ทรัพย์สินทั้งส่วนของที่ดินและอาคารจึงเป็นของมูลนิธิฯ ทั้งสิ้น ต่อมามูลนิธิดุลยพัฒน์ ได้ขอจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียน โดยใช้ชื่อว่า “ศูนย์การเรียนดุลยพัฒน์” ตามกฏกระทรวงว่าด้วยสิทธิขององค์กรชุมชนและองค์กรเอกชนในการจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. ๒๕๕๕
ดุลยพัฒน์เริ่มมีชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ เป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ นักเรียนรุ่นแรกมีทั้งหมด ๗ คน ปีต่อมาได้สร้างอาคารอนุบาลขึ้น และเปิดรับเด็กในระดับชั้นอนุบาล เนิสเซอรี่ และมีการเพิ่มระดับชั้นประถมศึกษาขึ้นทุกปีตามวัยที่เติบโตขึ้นของเด็กๆ ปัจจุบันดุลยพัฒน์มีระดับการศึกษาตั้งแต่ชั้นเนิสเซอรี่ อนุบาล ประถมศึกษา ไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น
จากความร่วมมือร่วมใจกันของกลุ่มผู้ปกครองรุ่นบุกเบิกทุกคนที่พลิกฟื้นผืนดินแห้งแล้งจนค่อย ๆ กลายเป็นสถานที่ที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ของเด็ก ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ จากนั้นผู้ปกครองรุ่นต่อ ๆ ก็ร่วมช่วยกันสนับสนุนและสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำผ้าป่าเพื่อสร้างอาคารเรียน การช่วยเหลืองานหลาย ๆ ด้านเพื่อสนับสนุนงานทางด้านการศึกษา ตลอดจนเกิดเศรษฐกิจแบบพี่น้องขึ้น ซึ่งออกมาเป็นรูปธรรมในแง่ของการบริหารค่าบริจาคทางการศึกษา (ค่าเทอม) กล่าวคือ ผู้ปกครองบางครอบครัวอาจจะไม่สามารถจ่ายได้ในครั้งเดียว ก็สามารถเฉลี่ยจ่าย หรือบางครอบครัวขอลดหย่อนค่าเทอม ก็สามารถปรึกษาฝ่ายการเงินเป็นรายครอบครัว มีหลากหลายรูปแบบในการขอความช่วยเหลือ ขณะเดียวกันตลอดเวลาที่ผ่านมาก็มีกลุ่มผู้ปกครองที่จ่ายค่าเทอมมากกว่าขั้นต่ำ เป็นเจตจำนงอิสระ ( Free Will) เป็นพลังหล่อเลี้ยงโรงเรียน รวมทั้งผู้ปกครองหลายคนผันตัวเองมาเป็นครูของเด็กๆ หรือทำงานอาสาเพื่อเด็ก ๆ เพราะมองเห็นความสำคัญของการพัฒนาตนเองเพื่อเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
ส่วนลักษณะการเรียนการสอนของดุลยพัฒน์นั้น จัดขึ้นอย่างสอดคล้องกับพัฒนาการของวัยเด็ก ทั้งร่างกาย จิตใจ และความเป็นปัจเจกของเด็กแต่ละคน ลักษณะการให้การศึกษาบูรณาการทั้งการใช้ ความคิดที่มีศูนย์กลางที่ศีรษะ (Head) ความรู้สึก (Heart) และการลงมือกระทำ (Hand) เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ผ่านการเคลื่อนไหว ลงมือปฏิบัติ แล้วจึงค่อยสรุปรวบยอดเป็นความคิดในภายหลัง การลงมือปฏิบัติเป็นไปอย่างมีกระบวนการและมีศิลปะ เป็นตัวนำพาให้เกิดการเรียนรู้ถึงความจริงแท้ แก่นสาระที่ครูนำเสนอ “วิชาการ” จึงไม่เป็นเพียงความทรงจำอันแห้งแล้ง หากจะมีชีวิตชีวาอยู่ในตัวตนของเด็กตราบนานเท่านาน
กล่าวโดยสรุป ดุลยพัฒน์ ประกอบไปด้วย ๓ ภาคีสำคัญ คือ ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ที่ร่วมกันสรรค์สร้างชุมชนเล็กๆ เพื่อที่วันข้างหน้าจะคืนสิ่งดีงามกลับสู่สังคมส่วนรวม