คุณพ่อคุณแม่หลายท่าน คงจะคุ้นเคยกับบรรยากาศภายในโรงเรียนที่ไม่มีการเอากล้องหรือมือถือมาถ่ายรูปเด็ก ๆ ครูจะขอความร่วมมือจากคุณพ่อคุณแม่เสมอว่าให้งดเว้นจากการถ่ายรูปลูก โดยเฉพาะการถ่ายรูปแบบซูมหน้า หรือถ่ายแบบให้เด็กยืนมองกล้องแอ็คท่าต่าง ๆ พ่อแม่หลายท่านอาจจะเกิดความสงสัยว่าทำไมครูต้องห้ามถ่ายรูปลูก สำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่ ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่อยากจะเก็บบันทึกช่วงเวลาอันน่าจดจำของลูกอยู่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อแต่ละช่วงเวลานั้น ล้วนแต่เป็นช่วงเวลาที่มีเพียงครั้งเดียว ผ่านแล้วก็ผ่านเลยไม่อาจย้อนกลับมาได้อีก
วันนี้ครูแอนมีเรื่องที่จะเล่าสู่คุณพ่อคุณแม่ฟังค่ะ และจะขอเล่าในฐานะแม่คนหนึ่ง ไม่ได้เล่าในฐานะที่เป็นครู
หากใครรู้จักแม่แอนมานานก็จะทราบดีว่า เมื่อก่อนแม่แอนถ่ายรูปลูกบ่อยมาก แทบจะเรียกได้ว่าถ่ายตลอดเวลา มันช่วยไม่ได้จริง ๆ ค่ะ เพราะลูกเราน่ารักมาก (ลูกเราน่ารักที่สุดจริงไหมคะคุณพ่อคุณแม่?) ต้องถ่ายเก็บให้ครบ ทุกกิจกรรม ทุกอิริยาบถ ทุกช่วงอายุ แล้วก็จะถูกป้าอ้วนเตือนอยู่เรื่อย ๆ เรื่องถ่ายรูปลูก (แต่ไม่เป็นไรหรอกน่า ป้าอ้วนคงไม่เข้าใจหรอก เพราะลูกป้าอ้วนก็โตหมดแล้ว จะมาเข้าใจหัวอกคนมีลูกวัยกำลังน่ารักได้อย่างไร เราจึงยังคงถ่ายต่อไป มิได้นำพา ฮ่า ๆๆ)
แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป เราก็ได้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวลูก ลูกเริ่มขอดูรูปตัวเองในมือถือของแม่บ่อยขึ้น เริ่มสนใจว่าเขาต้องทำท่าแบบไหนถึงจะออกมาน่ารักหรือดูตลกในภาพ ลูกเริ่มทำท่าชูสองนิ้วหรือโพสท่าใส่กล้อง ลูกเริ่มขอให้แม่ถ่ายรูปเขาโดยเฉพาะเวลาที่เขาทำอะไรใหม่ ๆ ได้ และสัญญาณสุดท้ายที่ทำให้เราต้องหยุดจริง ๆ ก็คือ วันหนึ่งขณะที่ลูกคนโตกำลังเพลิดเพลินกับการจัดฉากเล่านิทาน พอเห็นแม่เดินเข้าไปใกล้ ลูกที่กำลังจะเริ่มเล่านิทานก็หยุดและถามว่า “แม่จะถ่ายรูปก่อนไหม? หรือจะให้หนูเล่าได้เลย”
นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้มาหยุดทบทวนตัวเองอย่างจริงจัง ว่าสิ่งที่เราทำมาตลอดนั้นส่งผลกระทบอย่างไรกับลูก?
การเล่านิทานของเขา แทนที่จะเป็นกิจกรรมที่เขาได้จดจ่อ เพลิดเพลินและอิ่มใจในตัวเอง กลับกลายมาเป็น “การพรีเซ้นต์” ให้แม่ดู การเล่นของเขาที่ควรจะเกิดขึ้นเพื่อเติมเต็มจินตนาการของเขาเอง แต่กลับต้องมาห่วง “ภาพ” ที่จะนำเสนอออกไปให้แม่ (และให้กล้องของแม่) ได้เห็น อย่าว่าแต่เด็กเลยค่ะ แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็คงไม่ต่างกัน ลองนึกภาพที่เราทำงานอะไรสักอย่างแล้วมีคนมานั่งเฝ้าคอยถ่ายรูปเราอยู่เรื่อย ๆ เราจะเป็นเช่นไร? เราจะมีใจจดจ่อกับงานได้ไหม เราจะทำตัวเป็นธรรมชาติไหม เราจะห่วงภาพที่ออกไปไหม?
เราเป็นเช่นไร เด็กก็เป็นเช่นนั้น และเป็นมากกว่าเราด้วยซ้ำ เพราะการสัมผัสรับรู้ของเขานั้นละเอียดอ่อนกว่าเรามากนัก
เมื่อมีคนถ่ายรูปเขาบ่อย ๆ เด็กก็จะจดจ่อมีสมาธิกับสิ่งที่ทำอยู่ได้ยาก เพราะความสนใจถูกดึงออกไปนอกตัวเสียหมด พลอยจะคิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะถูกถ่ายรูปเมื่อไหร่
เมื่อมีคนถ่ายรูปเขาบ่อย ๆ เด็กจะสูญเสียความเป็นธรรมชาติ สูญเสียความเป็นตัวเองและเริ่มทำสิ่งต่าง ๆ ตามความคาดหวังของคนรอบข้าง (ที่ถือกล้อง) อยู่เสมอ เราคงไม่อยากให้เขา “เคยชิน” และเติบโตขึ้นมากับความรู้สึกเช่นนั้น ที่จะต้องทำอะไรเพื่อสร้างภาพให้ถูกใจคนรอบข้างตลอดเวลา
และที่สำคัญที่สุด เด็กจะเริ่มตระหนักรู้ถึง “รูปลักษณ์” ของเขา เด็กเล็กไม่ทราบและไม่สนหรอกค่ะว่าเขาหน้าตาเป็นอย่างไร จนกระทั่งเราเอากล้องไปจ่อหน้าเขา และเขาได้เห็นเราให้ความสนใจกับมันเสียเหลือเกิน ไม่ว่าเราจะตั้งใจหรือไม่ แต่เรากำลังส่งสารออกไปถึงลูกว่า “รูปร่างหน้าตาของเขา คือ สิ่งที่สำคัญที่สุด” ในตอนแรกเด็กอาจจะแค่โพสท่าสนุก ๆ ให้ดูตลก แต่เมื่อเขาเติบโตขึ้นก็เป็นไปได้ที่เขาจะเริ่มโพสให้หล่อ ให้สวย เพราะ “ห่วงรูปลักษณ์” ของตัวเองมากขึ้น ทำท่านี้แล้วฉันจะดูเป็นอย่างไรนะ? ใส่เสื้อผ้าชุดนี้แล้วดูเท่หรือเปล่า? นานวันเข้าก็อาจจะไปจนถึง “หลงรูปลักษณ์” ของตนเอง ดังเช่นที่เราเห็นวัยรุ่นในยุคเซลฟี่เป็นอยู่มากในปัจจุบัน ที่ให้คุณค่ากับ “เปลือก” ของตนเองมากกว่าตัวตนที่อยู่ภายใน ข้างนอกงดงามแต่ข้างในกลับว่างเปล่า เติมไม่เต็ม เราคงไม่อยากให้ลูกของเราเป็นเช่นนั้น เราคงไม่อยากให้เขารู้จักและให้ความสำคัญกับเปลือกนอกก่อนวัยอันควร ก่อนที่เขาจะได้รู้จักตัวตนภายในของเขา
เมื่อเด็กคนหนึ่งถือกำเนิดขึ้น เขายังไม่รู้อะไรมากนัก เขาจะค่อยเรียนรู้ไปทีละเล็กละน้อยทุกขณะที่เขาเติบโต และสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดที่เด็กจะได้รู้เรียนรู้ ก็คือ “การรู้จักตนเอง” ซึ่งกว่าที่คนคนหนึ่งจะรู้จักตนเอง เขาต้องใช้เวลาค้นหาไปตลอดเส้นทางการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของเขา (บางคนเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังค้นหาตัวตนไม่พบ) ฉันคือใครบนโลกใบนี้? แล้วตัวฉันสามารถทำอะไรได้บ้าง? นี่คือคำถามที่เด็กจะต้องหาคำตอบด้วยตนเองระหว่างเส้นทางการค้นหาตัวตนของเขา และมีแต่เด็กที่มีความมั่นคงในใจและสงบภายในเท่านั้น จึงจะเป็นอิสระที่จะค้นหาคำตอบเหล่านี้ได้
แล้วลูกของเราจะมั่นคงในใจได้ไหม หากต้องเติบโตมากับการพยายามไขว่คว้าความงามของเปลือกเพื่อเติมเต็มตัวเองอยู่ตลอดเวลา?
เขาจะมีอิสระที่จะค้นหาศักยภาพของตนได้อย่างไร หากต้องคอยห่วงแต่สร้างภาพลักษณ์ให้สวยงามตามความคาดหวังของคนรอบข้าง?
เขาจะสงบในใจได้อย่างไร เมื่อถูกจับจ้องด้วยมือถือของแม่ หรือกล้องของพ่ออยู่ตลอดเวลา?
ลองหาคำตอบให้กับตัวเองนะคะ
ส่วนแม่แอน แม่แอนได้คำตอบให้กับตนเองแล้ว
“หากไม่ถ่ายรูป แล้วเราจะไม่พลาดช่วงเวลาดี ๆ ของลูกไปหรือ?” นี่น่าจะเป็นคำถามที่จะตามมา หากอยากเก็บช่วงเวลาดี ๆ ก็ถ่ายแค่แบบเก็บบรรยากาศสัก 2-3 รูป ไม่จำเป็นต้องถ่ายเยอะ ไม่ต้องถ่ายแบบจ่อหน้าหรือแบบให้ลูกรู้ตัว
แต่ถึงจะอย่างนั้น ก็เชื่อเถอะค่ะ ว่าไม่มีอะไรจะทำลายช่วงเวลาดี ๆ ได้เท่ากับการยกกล้องขึ้นมาถ่ายมันไว้อีกแล้ว เพราะนอกจากจะรบกวนลูกแล้ว เมื่อใดก็ตามที่เราใช้กล้อง ตัวเราเองก็จะลืมที่จะใช้ดวงตาและหัวใจจดจำความรู้สึกของช่วงบรรยากาศนั้น เราจะเลือกจดจำแบบใด? เก็บเป็นภาพแห้ง ๆ ไร้ชีวิตในคอมพิวเตอร์เป็นพัน ๆ รูปที่เราไม่เคยมีเวลาได้กลับมาเปิดดู หรือจดจำด้วยหัวใจแล้วให้ช่วงเวลานั้นมีชีวิตชีวาอย่างอบอุ่นในใจเรา