เรียบเรียงจากการบรรยายของอาจารย์ซูซาน วีเบอร์ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๗ ที่อาคารอนุบาลดุลยพัฒน์

นี่คือบทสรุปย่อจากการฟังบรรยายของอาจารย์ซูซาน ถึงปัจจัยที่จะช่วยให้ลูกน้อยเติบใหญ่อย่างมีสุขภาวะที่ดี
สิ่งแรกเลยคือ ความรัก ความเอาใจใส่จากผู้ใหญ่ที่ดูแลเขา แน่นอนบุคคลแรกคือพ่อแม่และบุคคลในครอบครัว เด็กๆต้องการการสัมผัสโอบกอด (พอประมาณ-จากผู้เรียบเรียง) ผู้ใหญ่ต้องรู้จัก “ฟัง” เด็กน้อยบ้าง ใส่ใจให้เวลาและไม่พยายามหา “เครื่องมือเทคนิคหรือแม้ของเล่น” มาแทนที่ตนเอง เช่น เสียงเพลงที่เห่กล่อม ก็น่าจะมาจากเสียงของผู้ใหญ่ที่เขารัก ร้องเพลงไม่ได้ก็อาจจะท่องบทกลอนที่ดีๆให้เขาฟังก็ได้ เสียงที่ออกจากหัวใจของผู้ใหญ่ที่เขารักนั้นสำคัญพอๆกับอาหารที่เขาดื่มกินเข้าไปทีเดียว ไม่ใช่แทนที่ด้วยซีดีเพลงเด็ก หรือ วีดีโอการ์ตูนน่ารัก หรือของเล่นสำเร็จรูป

เด็กต้องการให้เราตระหนักว่า เด็กก็เป็นมนุษย์อีกคนหนึ่งเช่นกัน ไม่ใช่ถุงช็อปปิ้งที่เราจะวางไว้ตรงไหนก็ได้ หรือที่จะใส่อะไรลงไปก็ได้ เราควรมีความเคารพต่อความเป็นมนุษย์เฉกเช่นเดียวกันกับตัวเราเอง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เขาเป็นผู้ใหญ่ตัวน้อย เด็กเพิ่งมาเ
กิดบนโลกนี้ เขาไม่รู้จักอะไรอีกมากมายดังนั้นการเลี้ยงลูกด้วยความเคารพในที่นี้คือ มีอิสระภายในขอบเขตและโอบกอดอันมั่นคงที่พ่อแม่วางไว้ แน่นอนว่าเด็กน้อยไม่สามารถไปหาเกมกดบนมือถือสมาร์ทโฟนมาเล่นได้เอง ถ้าพ่อแม่ไม่วางไว้และยินดีให้ลูกกดเล่น เพื่อลูกจะได้เลิกตอแหยหรืองอแงเสียที นี่ไม่ใช่การแสดงความเคารพต่อความมนุษย์ในตัวตนของเด็กน้อยและไม่ใช่การมอบอิสระภาพให้แก่เขแต่มันคือการไร้ขอบเขตอันนำมาซึ่งความโกลาหลและพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในเวลาต่อมา
เด็กต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่โดยตรง อยากให้พ่อแม่สนใจเต็มที่ แต่ในยุคสมัยนี้พ่อแม่หลายคนเลือกที่ยื่นไอแพด เทบเล็ตให้ลูก แล้วตนเองก็มี smart phone เล่นไลน์ ดูเฟส การเชื่อมโยงสัมพันธ์กันย่อมไม่แนบสนิท พ่อแม่อาจจะรู้จักลูกเมื่อสายไปแล้ว เมื่อมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นแล้วนั่นเอง….การมีเครื่องมือแบบนี้อยู่คั่นกลางแม้แต่ทีวีก็ตาม ทำให้พ่อแม่ขาดการเรียนรู้ที่จะรู้จักลูกได้เต็มที่
เด็กเล็กๆต้องการพ่อแม่ตลอดเวลา และเขาควรอยู่ในสายตาพ่อแม่ ความอบอุ่นที่ถ่ายทอดมาจากหัวใจพ่อแม่จะสื่อสารโดยตรงต่อลูก เด็กจะรู้สึกมั่นคงและอบอุ่นใจ มีผลต่อเล่น การเรียนรู้โลกของเขาอย่างมากทีเดียว
การนอนหลับพักผ่อน ในฐานะเป็นผู้ใหญ่เมื่อเดินทางไกลข้ามทวีป ก็เกิดอาการเจ็ทเลก ได้ คือรู้สึกงงๆ คล้ายๆกับหาตัวเองไม่เจอ เพราะเหนื่อยจากการเดินทาง ไม่มีสมาธิจะฟังสิ่งใด สับสนกับสิ่งที่เกิดขึ้น พอหายเหนื่อยแล้วก็จะจำทิศทางได้ เด็กก็เช่นกัน ถ้าเขาเหนื่อยเขาก็จะไม่สามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ต้องเผชิญในวันนั้นได้ดีนัก และเขาอาจจะมีอารมณ์เหวี่ยงไปมา พ่อแม่ก็คงได้แต่ยืนงงๆ และไม่รู้จะทำเช่นไร แต่ถ้าเด็กไม่เหนื่อยเขาก็จะจดจำได้ และสามารถทำความเข้าใจกับสิ่งต่างๆรอบตัวเขาได้ดี ในอเมริกามีโรคนอนไม่พอเกิดขึ้นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เด็กๆต้องการนอนสิบสองชั่วโมงขึ้นไป ดังน้ั้นการเข้านอนก่อน 20.00 น. ทุกๆวันจะช่วยให้เด็กมีพลังที่ดี และมีสมาธิ สามารถจดจ่อต่อสิ่งที่จะทำได้ดีขึ้น เด็กควรนอนในเวลาเดิม มีแบบแผนในชีวิต อย่างสม่ำเสมอทั้งการเล่น การนอน การตื่น การรับประทานอาหาร
การเคลื่อนไหว ในอเมริกาเริ่มมีปัญหาที่เด็กเคลื่อนไหวน้อยเพราะนั่งในรถนานเกินไป มีกิจกรรมแบบเดียวเช่น นั่งดูทีวี เล่นเกมกด นั่งท่าใดก็อยู่ท่านั้นเป็นเวลายาวนาน ในงานวิจัยก็ชี้ให้เห็นว่า การไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวเพราะติดอยู่กับทีวี เกม หรือคอมพิวเตอร์ มีผลต่อการนอนไม่หลับ หรือหลับไม่ลึก ยิ่งไปกว่านั้นการเคลื่อนไหวยังเป็นพื้นฐานในการพัฒนาสมองของเด็กเล็กๆและเด็กโตอีกด้วย แต่การเคลื่อนไหวนี้ไม่ใช่การเล่นกีฬา เราไม่สนับสนุนให้เด็กใช้ร่างกายข้างเดียว หรือฝึกแบบแผนในการเคลื่อนไหวอย่างตายตัว เช่น ศิลปะการต่อสู้ต่างๆ (ต้องรอให้โตเกินสิบสองไปแล้วหรืออาจจะมากกว่านั้น) ในช่วงเจ็ดปีแรกและเจ็ดปีที่สอง เราควรสนับสนุนให้เด็กมีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระ ทั่วทั้งร่างกาย ได้ใช้กล้ามเนื้อทุกส่วนในการเคลื่อนไหวทุกรูปแบบ แต่เด็กๆไม่จำเป็นต้องไปเรียนว่ายน้ำ อันที่จริงเมื่อเด็กใช้มือเท้าคล่องแคล่วและถึงเวลาแล้ว เขาก็สามารถว่ายน้ำได้เองหลังจากเล่นน้ำสนุกๆ เด็กก็หาทางพยุงตัวเองในน้ำได้เองอย่างเป็นอิสระ สิ่งนี้สำคัญกว่าฝึกว่ายน้ำตามครูบอกเสียอีก
(ครูอ้วน-สิ่งนี้อาจจะเป็นเฉพาะในสังคมวัฒนธรรมเอเชียหรือในสังคมไทย คือ การป้อนข้าวลูก หรือตามป้อนลูกกินข้าวไปเรื่อยๆ) ในเนิสเซอรีของดุลยพัฒน์เราจัดพื้นที่บนโตีะให้เด็กเล็กทานข้าว และมีผู้ใหญ่ทานร่วมด้วยเพื่อเป็นต้นแบบ เด็กของเราเรียนรู้การใช้ช้อนและส้อม และทานอยู่กับโต๊ะ ไม่ใช่เดินไปมา ซูซานบอกว่าการรับประทานเช่นนี้ มีผลต่อการฝึกใช้นิ้วมือที่จะเป็นพื้นฐานในการเขียนในชั้นประถม ลองคิดดูว่าในแต่ละวันที่ลูกมาอนุบาลเนิสเซอรี ลูกต้องฝึกหัดหยิบช้อนและหยิบส้อมกี่พันครั้ง และต้องฝึกนั่งโต๊ะรับประทานอาหาร นี่คิอพื้นฐานที่สำคัญต่อไปที่จะรู้จักนั่งนิ่งๆ อีกทั้งบนโต๊ะอาหารเขาก็ได้เรียนรู้ที่จะแบ่งปันสิ่งเล็กๆน้อยๆกับเพื่อน ได้เรียนรู้การขอบคุณอาหารที่ธรรมชาติมอบให้มา สิ่งเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ มิอาจมองข้ามไปได้ เพราะมันมีความหมายยิ่งใหญ่ในอนาคต การทานอาหารที่บ้านต่างจากทานที่โรงเรียน เพราะที่อนุบาลเนิสเซอรี่มีเพื่อนๆทานด้วย การทานอาหารจึงมีลักษณะ joyful eating อีกอย่างที่สำคัญคือ การทานอาหารเป็นส่วนหนึ่งของแบบแผนจังหวะชีวิตที่แข็งแรงมั่นคงในอนุบาลและเนิสเซอรี แบบแผนจังหวะชีวิตหรือ Rhythm นี้ ไม่ใช่สิ่งที่หมายถึงเวลาที่นาฬิกา แต่หมายถึงการเชื่อมโยงร้อยเรียงกิจกรรมหนึ่งไปสู่กิจกรรมหนึ่งอย่างมีศิลปะและมั่นคงแข็งแรง ซึ่งช่วยให้เด็กรู้สึกมั่นคงภายใน (ครูอ้วน/เรื่องจังหวะชีวิต ขอแยกเป็นอีกหัวข้อหนึ่งต่างหาก)
การเล่น เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในช่วงวัยเด็ก การเล่นเป็นการเรียนรู้โลกของเด็ก ทุกวันนี้เด็กๆมีโอกาสน้อยลงที่จะได้ปีนต้นไม้ นั่งห้อยขาอยู่บนกิ่งไม้ หรือเล่นน้ำชายคลอง เด็กไม่สามารถขี่จักรยานอย่างเป็นอิสระอีกต่อไปเพราะมีรถมากมายบนถนน เด็กๆในยุคสมัยนี้ขาดอิสระในการเล่น พ่อแม่มักจะนึกว่าการเล่นแบบนี้ลูกได้เรียนรู้อะไรหรือเปล่า ดังนั้นจึงต้องมีของเล่นที่โฆษณาว่าช่วยเสริมสร้างเชาว์ปัญญา เช่นตัวต่อทั้งหลาย พ่อแม่พยายามจะสอนให้ลูกน้อยได้เรียนไวที่สุด ให้ท่องจำภาษาต่างประเทศ หรือบางคนอาจจะพาลูกไปเข้าคอร์สเพื่อเสริมสร้างเชาว์ปัญญาตั้งแต่อายุน้อยก็มี พยายามหากิจกรรมพิเศษในวันหยุดเพื่อหวังว่าเด็กจะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้เร็ว และพ่อแม่ก็จะไม่ถูกรบกวนด้วยเสียงงอแงของลูก ทั้งที่จริงในวัยเด็กเล็ก ลูกต้องการพ่อแม่มากที่สุดและกิจกรรมที่ทำกับเขาก็คือ กิจกรรม กิจวัตรประจำวัน เช่น กวาดบ้าน รดน้ำต้นไม้ ทำสวน ทำกับข้าว ถูบ้าน กวาดบ้าน ฯลฯ เด็กอยากมีส่วนร่วมทุกอย่างในสิ่งที่พ่อแม่สุดที่รักของเขากำลังทำอยู่ ซูซานกล่าวว่า “ทุกวันนี้เราได้ดึงเอาบ่อน้ำแห่งชีวิต ออกไปจากชีวิตเด็กเหลือไว้แต่เพียงความแห้งแล้ง” เด็กควรจะได้เล่นในสิ่งที่เขาต้องการเล่น ถ้าเราจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและของเล่นที่ปลายเปิดให้เขาได้มีอิสระในการเล่นและจินตนการ การเล่นช่วยให้เด็กเรียนรู้การตัดสินใจอีกด้วย แม้เด็กเล็กๆ ที่ยังเล่นเชิงสำรวจอยู่ก็ตาม การตัดสินใจว่าจะเลือกไม้บล็อคหรือตุ๊กตาเต่า เป็นเรื่องที่เด็กฝึกที่จะตัดสินใจเอง แต่ถ้าเราแทรกแซงการตัดสินใจของเด็กเราอาจจะบอกว่าลูกเล่นไม้บล็อคดีกว่า นี่เป็นการบอกเป็นนัยๆว่า ลูกไม่ควรเชื่อตัวเอง ลูกจึงเติบโตมาแบบไม่แน่ใจในตนเอง เด็กจำเป็นต้องเรียนรู้ที่เลือกเองในการเล่นและเขาจะลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ จนทำให้เขารู้จักตนเองดีขึ้นไปเรื่อยๆ แม้ว่าเราสนับสนุนให้เด็กได้เล่นอิสระ โดยปราศจากการแทรกแซงของผู้ใหญ่ก็ตาม แต่เราไม่ได้ให้อิสระเขาไปเสียทุกเรื่อง ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีขอบเขต คือเป็นอิสระภายในขอบเขตหรือในอ้อมกอดใหญ่ๆของผู้ดูแล อย่างเช่น เราต้องดูแลให้เด็กไม่ทำของแตกหัก ไม่ทำของเสียหาย หรือทำให้ผู้อื่นเจ็บ ซูซานพูดว่า “ให้เด็กได้เติบโตในที่ๆเหมาะสม”
งานของพ่อแม่ไม่เคยสิ้นสุด ตอนลูกเล็กๆ ลูกบอลทองก็เล็กๆ พอลูกโตขึ้นลูกบอลทองก็ใหญ่ขึ้น พ่อแม่ต้องมีศิลปะในการเติมเต็มลูกบอลทองตลอดเวลา
เมื่อเราวางพื้นฐานไว้ดี สร้างเสริมนิสัยความเคยชินทีดีให้เด็ก เด็กก็จะมีนิสัยที่ดีติดตัวจนเติบใหญ่ เมื่อเขาเป็นวัยรุ่น เราไม่ต้องเหนื่อยหรือปวดหัวกับวัยรุ่นอีกต่อไป
รูดอร์ฟ สไตเนอร์ กล่าวไว้ว่า “วัยเด็กเหมือนดวงตะวันส่องสว่างในตัวเรา มอบพรอันประเสริฐให้แก่เรา”