ครูที่สอน Bothmer Gym คนหนึ่งได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องกีฬาไว้ว่าควรจะมาถึงเด็กเมื่ออายุ 13 ปีขึ้นไป เพราะในช่วงอายุที่ต่ำกว่า 13หากเราฝึกท่าใดท่าหนึ่งซ้ำ ๆ เช่นฝึกเทนนิสมาตลอด ร่างกายเด็กก็จำท่าตีแบบแนวขวางเอาไว้ แล้วพอต้องไปตีแบดมินตัน เด็กก็จะยกแขนตีในแนวสูงได้ยาก เพราะร่างกายจำการตีแบบแนวขวางไปแล้ว ในขณะที่เด็กที่ยังไม่เรียนกีฬาใด ๆ เลย ร่างกายกลับพร้อมที่จะเล่นกีฬาได้ทุกชนิด มีการเคลื่อนไหวที่ยืดหยุ่นกว่า พร้อมสำหรับการเรียนรู้มากกว่า หรือการที่กีฬา มักเน้นใช้อวัยวะใดอวัยวะหนึ่งมากเกินไป ในขณะที่ร่างกายของเด็กนั้นยังต้องการพัฒนาไปทุกส่วนพร้อมเพรียงและสมดุล
หากเราพาเด็กเล็กไปฝึกกีฬา หรือเข้าคอร์สต่าง ๆ อย่างเป็นประจำ เขาก็จะเสียโอกาสในการเล่นอิสระ หรือมีพลังชีวิตไม่พอในการเล่นสร้างสรรค์ ซึ่งในการเล่นนั้น เด็กจะได้เคลื่อนไหวทุกรูปแบบ ทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ ไม่ติดอยู่กับท่าใดท่าหนึ่งซ้ำ ๆ ในการเล่น พลังเจตจำนง (will) จะเกิดจากตัวเด็กเอง เด็กได้เรียนรู้ที่จะเริ่มต้น แปรเปลี่ยน และหยุดด้วยตัวของเขาเอง จึงพัฒนาหลายส่วนไปพร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม “การฝึก” นั้นแตกต่างจาก “การเล่น” บางทีลูกเห็นพ่อแม่ตีแบดฯ เตะบอล ก็อาจจะเล่นด้วย ด้วยการทำท่าตาม ตีถูกบ้างไม่ถูกบ้าง เตะบอลไปทางนั้นทางนี้บ้าง แป๊บเดียวก็เลิก หรือเอาลูกแบดฯ ลูกบอลไปเล่นเป็นอย่างอื่น ซึ่งเป็นการเรียนรู้ตามธรรมชาติ หรือพ่อแม่ไปว่ายน้ำ แล้วลูกก็ลงสระด้วย เด็กก็จะเล่นน้ำตามแบบของเขา และด้วยพลังการเรียนรู้ผ่านการสังเกตและเลียนแบบที่มีอยู่ในเด็กเล็ก เมื่อถึงเวลาหนึ่งก็จะสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาได้ เช่นเด็กหลายคนที่ว่ายน้ำหรือลอยตัวได้เอง ด้วยวิธีของเขาเอง นำมาซึ่งความอัศจรรย์ใจและความมั่นใจในการเรียนรู้ครั้งใหญ่

ส่วนเด็กที่โตขึ้น ในชั้นประถม ที่อายุยังไม่ถึง 13 ปี ในการศึกษาวอลดอร์ฟนั้นมีวิชาเกม ที่จะให้เด็กได้เคลื่อนไหว เรียนรู้กติกา และการทำงานเป็นทีม โดยที่เด็กไม่ได้ถือการแข่งขัน แพ้-ชนะเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเป็นผลดีต่อกายและใจของเด็กมากกว่า