
การเล่นเป็นสิ่งจำเป็น เป็นงานหนักที่เด็ก ๆ ทุกคนควรมีโอกาสได้ทำ แต่เมื่อมีการเข้ามาของสื่อหน้าจอ ที่เบียดบังเอาเวลาและทิศทางการเรียนรู้ที่เขาควรจะได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ทางร่างกาย ความรู้สึกนึกคิด และจินตนาการของเขา มาลองคิดกันดูสิว่า สื่อหน้าจอเหล่านี้กำลังครอบกรอบการเล่นของเด็กๆอย่างไร?
หากเราลองสังเกตการเล่นของเด็ก ๆ วัยที่แฟนตาซีและจินตนาการของพวกเขาได้ผุดพรายขึ้นแล้ว เราจะเห็นว่ามีหลากหลายอาชีพก่อเกิดในห้องที่มีเด็กเล่นกันหลาย ๆ คน พวกเขาทดลองที่จะ “ลองเป็น” ในสิ่งต่าง ๆ จากภาพที่ได้รับประสบการณ์มา แล้วนำมาต่อยอด สร้างเรื่องราว สานบทสนทนา พลิกแพลงสถานการณ์ แก้ไขปัญหาจากการเล่นบทบาทสมมุตินั้น ๆ
เช่นเมื่อเด็กเล่นเป็นตำรวจจราจร เขาก็นำอะไรสักอย่างมาเป็นนกหวีด อาจจะเป็นกิ่งไม้หักเล็ก ๆ สักอัน หรือไม่คว้าอะไรได้ก็นำมาเป็นสิ่งที่ตัวเองต้องการ จากนั้นเราก็จะเห็นภาพโบกไม้โบกมือ มือหนึ่งถือนกหวีด อีกมือหนึ่งโบก เกิดการทำงานอย่างแยกอิสระต่อกันระหว่างสองมือ ตามด้วยคำพูด… ไปๆๆๆ หรือถอยหลังหน่อย ไปข้างหน้า ด้วยน้ำเสียงของตำรวจจราจร
เมื่อเด็กเล่นเป็นแม่ค้าหรือพ่อค้าส้มตำ “วันนี้เอาอะไรคะ” “อ๋อ ได้ค่ะ” จากนั้นก็หยิบเส้นมะละกอที่ไม่มีอยู่จริงใส่ลงไปในครก อีกมือหนึ่งหาท่อนไม้ได้ก็ตำลงไปซ้ำ ๆ มือหนึ่งหยิบวัตถุดิบใส่ อีกมือตำไม่หยุด ปากก็คุยกับลูกค้า ทุกอย่างช่างสอดสัมพันธ์ และเหมือนจริง พอตำจนเมื่อยแล้ว แม่ค้าก็ปิดร้าน ด้วยวิธีหาผ้ามาคลุมโต๊ะขายของของตัวเอง พอลูกค้าที่เป็นเพื่อนอีกคนแวะมาซื้อ เจ้าของร้านก็บอกว่า “ร้านปิดแล้ว” เพื่อนก็ต้องไปหาซื้อส้มตำที่อื่น จะเห็นได้ว่าทักษะการอยู่ร่วมในสังคม ขอบเขตกติกาบางอย่าง เด็ก ๆ ก็ได้รับไปจากการเล่นด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ เด็กๆ ยังเล่นเป็นคุณหมอ เป็นทหาร เป็นรถเก็บขยะเทศบาล เป็นคนขับรถไฟ เล่นพ่อแม่ลูก เล่นเป็นพระก็มี ความหลากหลายในการเล่นของเด็ก ๆ ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวร่างกายไปในรูปแบบต่าง ๆ กัน เกิดการคิด (ในแบบของเด็ก) ไปในกิ่งก้านของความเป็นไปได้ในแต่ละสาขา เขาได้ฝึกการแก้ปัญหาที่มีอยู่ในแต่ละอาชีพ ในการเล่นนั้น…เด็ก ๆ ฝึกฝนตัวเองอย่างหนัก เพื่อจะรู้จักโลก เพื่อจะอยู่ร่วมกันกับคนอื่น ทักษะที่ได้จากการเล่นจึงจะสั่งสมเป็นทักษะชีวิตในภายหลัง นอกจากพลังจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ที่ก่อเกิดแล้ว ยังพัฒนาวุฒิภาวะทางอารมณ์ ไม่ยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งสิ่งเดียว และยอมรับการแปรเปลี่ยนจากสิ่งหนึ่งไปเป็นสิ่งต่าง ๆ เช่นที่เขาใช้ของเล่นเดิม ๆ แต่เล่นเปลี่ยนความหมายได้อย่างหลายหลาก
หากเมื่อเด็กได้รับสื่อ เช่นไปดูการ์ตูนเจ้าหญิงที่ชายกระโปรงระย้า ทวงท่าในแบบหญิงสาว เด็กก็จะนำมาเลียนแบบเช่นเดียวกันกับการที่เด็กได้รับภาพอื่น ๆ ในชีวิตจริง แต่สิ่งที่สื่อหน้าจอสร้างรอยประทับให้กับเด็กนั้น คือการครอบกรอบการเล่นที่ยากจะแปรเปลี่ยนไปเป็นสิ่งอื่น เจ้าหญิงจากการ์ตูนที่ไปดูมา ทำให้เด็กเคลื่อนไหวแบบนั้น พูดซ้ำๆ ว่าตัวเองเป็นเจ้าหญิงคนนั้น หากเพื่อนไม่ได้รู้เรื่องด้วย การเล่นด้วยกันก็ยากจะเกิด เราจึงเห็นเด็กแต่งตัวแล้วเดินไปเดินมาลำพัง พูดว่าตัวเองเป็นเจ้าหญิง โอกาสที่จะได้ลองเป็นได้อย่างหลากหลายจึงลดน้อย ยิ่งเด็กติดภาพจากการ์ตูนมาหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนรถ การ์ตูนการต่อสู้ ก็จะเห็นได้ชัดว่า เด็กเล่นตามจินตนาการจากการ์ตูน ไม่ได้เล่นจากสิ่งที่ก่อเกิดมาจากตัวเขาเอง รวมถึงบทสนทนาก็จดจำมาจากบทบาทในการ์ตูนเช่นกัน มิได้มาจากการพลิกเปลี่ยนไปตามสถานการณ์การเล่นในปัจจุบัน
หากผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กเข้าใจในสิ่งนี้ เราก็จะคำนึงถึง “กรอบ” ที่มาครอบการเล่นของเด็ก ที่จะลดทอนโอกาสการพัฒนาทักษะชีวิตของเด็ก และพลังงานสร้างสรรค์ที่กำลังพวยพุ่ง
เพราะวิธีการเล่นของเด็กในวันนี้ คือวิธีการทำงานและวิธีการใช้ชีวิตของพวกเขาในวันข้างหน้า ซึ่งเด็กทุกคนล้วนมีศักยภาพในตัวเอง หากในช่วงต้นของชีวิต พวกเขายังต้องการผู้ใหญ่นำทาง ที่จะบอกปฏิเสธในสิ่งที่ไม่ใช่ และนำพาสิ่งที่เหมาะสมต่อการเติบโตมาสู่พวกเขา