ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖
นักเรียนชั้น ป.๖ ในวัย ๑๒ ปี นับเป็นวัยเริ่มต้นของวัยรุ่น โครงสร้างการเติบโตของเขาอยู่ที่โครงกระดูก แขนขายืดยาวออก ทำให้การเคลื่อนไหวดูงุ่มง่าม นักเรียนชั้นปีนี้จะมีความคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น สามารถโต้แย้งกับผู้ใหญ่อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นช่วงวัยที่ท้าทายในการดูแล ครูจึงต้องนำพาพลังการวิพากษ์วิจารณ์นี้ไปสู่วิชาเรียนต่าง ๆ ซึ่งยังเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง แต่มี concepts ใหม่ ๆ เข้ามา ผ่านเรื่องราวและการทดลองทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภาษา ฯลฯ
จากชั้นปีก่อน ๆ ที่นักเรียนได้ฟังเรื่องเล่าในรูปแบบตำนาน ก็จะแปรเปลี่ยนมาสู่เรื่องเล่าชีวประวัติ ซึ่งเป็นเรื่องของบุคคลที่เคยมีชีวิตอยู่จริงบนโลก เป็นบุคคลที่แสวงหาสัจจะในยุคกาลก่อน เช่น พระพุทธเจ้า ขงจื๊อ นักปราชญ์ชาวกรีกที่มีชื่อเสียง เป็นต้น ในวิชาภูมิศาสตร์ นักเรียนจะเรียนรู้ภาพทางกายภาพของประเทศไทย เรียนเรื่องธรณีวิทยา เรียนเรื่องราวของแม่น้ำสายสำคัญต่าง ๆ ในเอเชีย และยังเรียนวิชาดาราศาสตร์ ที่จะทำให้เขาเข้าใจโลกใบนี้มากขึ้น และยังมีวิชาฟิสิกส์ที่จะทำให้เขาเข้าใจสิ่งที่สามารถมองเห็นได้และสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ เช่น การสั่นสะเทือนของเสียง (Resonance Experiment: Chladni Plate) ได้เรียนรู้เรื่องแสงและความมืด รวมทั้งสีสันต่าง ๆ ที่ปรากฏบนโลกใบนี้ อีกทั้งยังมีความเร้นลับของ “ไฟฟ้า” วัตถุธาตุที่ทำให้เกิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ในวิชาคณิตศาสตร์นั้น มีการเรียนรู้เรื่องบัญญัติไตรยางค์ เศษส่วนที่ซับซ้อน การทำบัญชีเบื้องต้น ซึ่งนักเรียนต้องเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรม “ขายผักผลไม้” ในตลาดนัดวันศุกร์ที่กลุ่มผู้ปกครองจัดขึ้นในโรงเรียน ก่อนหน้าจะขึ้น ป.๖ นักเรียนทุกคนได้คุ้นเคยกับการเขียน “ลีลาเส้น” (Form Drawing) ด้วยมือ โดยไม่ใช้เครื่องมือเรขาคณิตใด ๆ แต่พอมาถึงชั้นปีนี้ เด็กมีความคิดเชิงแยกส่วนมากขึ้น การให้เครื่องมือเรขาคณิต เช่น วงเวียน ไม้บรรทัด ในช่วงวัยนี้ จึงเหมาะสมกับพัฒนาการภายในของเด็กที่ต้องการความแม่นยำ ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในวิชาเกมกีฬาเด็กจะได้เคลื่อนไหวในทุกทิศทางและยังสนุกสนานกับเกมที่มีการใช้ความคล่องแคล่ว แข็งแรงของกล้ามเนื้อ และมีกติกามากขึ้น เด็กในชั้น ป.๖ มีความเข้าใจลึกซึ้งในภาษามากยิ่งขึ้น จึงสามารถที่จะเขียนบทกลอนเองได้ และยังแต่งบทละครเพื่อแสดงละครประจำปีที่แสดงปิดท้ายปีการศึกษาได้เอง รวมทั้งสามารถสร้างฉากและเครื่องแต่งกายได้เองอีกด้วย นักเรียนชั้น ป.๖ อยู่ในวัยที่สามารถดูแลตัวเองได้ในหลาย ๆ เรื่อง เช่นสามารถที่จะช่วยกันทำอาหารในช่วงที่มีน้องประถมต้นมาเข้าค่าย ในวิชาดนตรีของ ป.๖ นั้น พวกเขาสามารถบรรเลงเพลงปี่พาทย์ได้เต็มวง และยังคงเรียนดนตรีสากล ไวโอลิน เชลโล่ รวมถึงขลุ่ยครบเสียงแนวประสาน