ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓
เด็กในขวบปีที่ ๙ มีพัฒนาการภายในที่น่าสนใจหลายเรื่อง เด็กมีคำถามต่อสิ่งต่าง ๆ อย่างลึกซึ้งมากขึ้น เกี่ยวกับการมีชีวิตอยู่ในโลกใบนี้ เด็กวัยนี้จึงได้เรียนรู้ตำนานการสร้างโลก การกำเนิดของสรรพสิ่ง พืชพรรณและสัตว์นานาชนิด รวมถึงการกำเนิดมนุษย์ ผ่านเรื่องเล่าขานพื้นถิ่นอีสาน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ตำนานพญาแถน พญาคันคาก ตำนานพระแม่โพสพ ตำนานผานกู่ของจีน รวมถึงตำนานสร้างโลกอิสราเอล การได้ฟังตำนานจากหลาย ๆ วัฒนธรรม เด็กจะได้เห็นภาพการกำเนิดโลกจากมุมมองที่แตกต่างกัน ทว่าจะมีจุดร่วมคล้ายคลึงกัน (การที่เด็กได้เรียนรู้หลากหลายตำนานนี้ยังทำให้เด็กไม่ติดยึดกับภาพลักษณ์ใดภาพลักษณ์เดียว เพื่อให้ได้สัมผัสความจริงแท้ที่อยู่ในเรื่องเล่านั้น ซึ่งเท่ากับเรากำลังบ่มเพาะวิธีการคิดที่ไม่ตายตัวให้กับเด็ก และไม่ยึดเอามุมมองของตัวเองเป็นที่ตั้งเพียงเท่านั้น) นักเรียนชั้น ป.๓ ยังมีกิจกรรมที่ต้องมุ่งมั่นลงมือกระทำมากมายและหลากหลาย เช่นเริ่มต้นเทอมการศึกษาเด็กจะมีประสบการณ์ในการปลูกข้าว ซึ่งเริ่มกระบวนการตั้งแต่ไถพรวน เตรียมเพาะกล้า ถอนกล้า และปักดำ จนกระทั่งเก็บเกี่ยว นวดข้าว (ซึ่งชั้นประถม ๕-๖ ยังมาช่วยงานน้อง ๆ อยู่) และยังต้องไปเยี่ยมชมชุมชนที่ทำงานหัตถกรรม เช่น ตีเหล็ก เลี้ยงหม่อนสาวไหม ทอผ้า จักสาน
นักเรียน ป.๓ จะมีประสบการณ์ในการสร้างบ้านง่าย ๆ หลังจากเรียนวิชาชั่ง ตวง วัดมาแล้ว เรียนรู้เรื่องเวลาในแง่ประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการของการนาฬิกา จนกระทั่งมาเป็นระบบปัจจุบัน เด็กเรียนรู้ความสัมพันธ์กับเวลาจากประสบการณ์ตรงกับการทำนา รวมทั้งรู้จักการชั่ง การตวงข้าวด้วยเช่นกัน และยังนำวิชานี้ไปใช้ในการทำขนมอบ ในเด็ก ป.๓ ได้พัฒนาระบบการหายใจอย่างแข็งแรงมาระดับหนึ่งแล้ว ดังนั้นในชั้นนี้เด็กแต่ละคนจะได้รับขลุ่ยไม้แบบรีคอร์ดเดอร์ซึ่งมีเสียงครบทุกตัวโน้ต ก่อนหน้านี้เด็กจะได้เรียนแต่เพลงที่เป็นคีย์ Major ในตอนนี้ก็จะเริ่มมีคีย์ Minor ซึ่งสอดรับกับสภาวะภายในจิตใจของเด็กที่เปลี่ยนแปลงไป เด็กยังได้เป่าขลุ่ยเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงอื่น ๆ ที่มีโน้ตซับซ้อนขึ้น อีกทั้งเด็กจะยังได้เริ่มเรียนการอ่านโน้ตดนตรีสากล ;�@�ɸރ��